Rabbit in the Moon ลงทะเบียนใหม่สำหรับเข้าเว็บไซต์   |   เข้าสู่ระบบ English
หน้าแรก รู้จักเรา โครงการ กิจกรรม เรื่องราวธรรมชาติ กระดานดำ ร่วมมือกัน   ติดต่อเรา
 
ร้านมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ กระต่ายในดวงจันทร์
ทีวีสินแร่จิ๋วแต่แจ๋ว
 
โครงการ Key Camp

Keeeep Camp

โครงการ Key Camp รุ่นที่ 4  - คีย์แคมป์ 4 ฉบับปรับปรุงใหม่ หลักสูตรทรวงศึกษา
Key (Knowledge Environment Youth) Camp

คีย์แคมป์ 4 คือ กระบวนการพัฒนาเยาวชนเพื่อการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์

เกริ่น (แนะ) นำ กับความ “ใหม่” ของโครงการฯ
มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปในคีแคมป์รุ่นที่ 4 บางอย่างก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเช่นเรื่องเวลา สถานที่ การจัดการ ลักษณะขั้นตอนของกระบวนการ การเพิ่มหรือลดตรงนั้นและตรงนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมดา แต่บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงก็เป็นผลมาจากแนวคิด แนวคิดที่ชัดเจน (ขึ้น) ต่อกระบวนการพัฒนาเยาวชนที่ชื่อว่าคีแคมป์ แนวคิดจากประสบการณ์ทีละนิดทีละหน่อย จากคีแคมป์แต่ละปีๆ การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ความเติบโต
การเติบโตหรือแนวคิดอันสำคัญที่จะนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาเยาวชนคีแคมป์ ช่วงชีวิต “รุ่น 4” มี 3 ประการ กล่าวคือ
เด็กตัดสินตัวเอง
นานเท่าไหร่แล้วที่เด็กและเยาวชน (รวมถึงเราๆ) ตัดสินถูก ผิด ดี ไม่ดี สิ่งควรทำ ไม่สมควรทำ สิ่งนี้ต้องไม่ทำ ส่วนสิ่งนี้--ต้องเป็นให้ได้! โดยคนอื่นหรือสังคมรอบๆ หากทำดังนี้แล้วจะได้รับการยอมรับ รางวัล คำชื่นชม หรือคะแนน หากเป็นดังนั้นจะต้องถูกกล่าวโทษ ไม่ยอมรับ หักคะแนน ตัดสิทธิ ไม่สามารถเข้ากลุ่มพวก หรือกระทั่งได้รับ “ความรู้สึกผิด” ต่อตัวเอง ครั้งสุดท้ายที่เขามีอิสระที่จะเลือกและตัดสินใจสิ่งต่างๆด้วยความคิดของตัวเองจริงๆ คือเมื่อไหร่ และสภาวะนั้นคงทนถาวรแค่ไหน
เด็กกำลังสูญเสียความสามารถในการคิดเข้าทุกที ความกลัวอย่างไม่รู้สาเหตุได้บั่นทอนความอยากรู้อยากเห็น
ของพวกเขา  บางครั้งความสำเร็จหรือการตั้งหวังก็ทำลายการก้าวไปข้างหน้ามากกว่าการคิด…วิญญาณของพวกเขากำลัง
ถูกกลืนกิน
คีแคมป์ต้องการอิสระ! จากที่เคยว่าอิสระแล้วในคีแคมป์ 1, 2, 3 ยังมีให้อิสระกว่าสำหรับคีแคมป์ 4 อีก (อิสระนี่เป็นเรื่องยากจริงๆ)
ไม่ใช่อิสระประเภทข้าจะทำอะไรก็ได้ หรืออิสระแบบตัวใครตัวมัน อิสระคือ เด็กและเยาวชนปลอดภัยจากการตัดสิน
โดยผู้อื่น แล้วเริ่มต้นคิดสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง พึ่งตัวเอง เคารพว่าตัวเองว่าสามารถที่จะคิดที่จะทำได้ พร้อมๆ กับเคารพผู้อื่น
ในแนวทางของการอยู่ร่วมกัน การถือว่าตัวเองมีประโยชน์ เป็นคุณต่อคนอื่นอย่างมากก็อาจเป็นการตัดสินได้เหมือนกัน กระบวนการคีแคมป์จะไม่ถือตัวเองว่าเป็นผู้รู้กว่า มีอำนาจมากกว่า (สามารถให้คุณให้โทษ) เป็นผู้ใหญ่กว่า เมื่อคีแคมป์พูด เด็กและเยาวชนน่าจะเห็นด้วย (คำว่า “ต้อง” ไม่อยู่ในสารบบคีแคมป์อยู่แล้ว) หากไม่พูดหรือบอกตรงๆ ก็คอยแต่จะโน้มน้าว
ให้คล้อยตาม เพราะตรึกอยู่ในความคิดว่าคีแคมป์ดีจริงๆ! เด็กต้องเลือกคีแคมป์ (ตัดสินจนได้)
เรากำลังเดินไปพร้อมกันในบริบทของการเรียนรู้ รับฟังกันได้ และสนับสนุนกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี เป็นคำถามน่าคิด และอยากคิดๆๆ ไปอีกหลายเรื่องจนกว่าจะถึงคำตอบ เริ่มต้นที่แต่ละคนตัดสินตัวเองได้ แล้วเขาจะตัดสินตัวเองได้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีความสามารถที่จะคิด

                “การเรียนรู้” ควบคู่ “สิ่งแวดล้อม”
คีแคมป์ 1, 2, และ 3 การเรียนรู้ของเยาวชนปรากฏตัวควบคู่กับเป้าหมายโครงการ ‘เพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อม’ มาโดยตลอด ในกระบวนการคีแคมป์ 1 และ 2 ใช้คำว่า ‘พัฒนาศักยภาพ’ เด็กและเยาวชนเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่วนในคีแคมป์ 3 ก็ชัดเจนเรื่องเรียนรู้ตั้งแต่เปิดโครงการด้วยวลี (ไม่ใช่คำถาม) ‘เรียนไปทำหอก’* และยังคงเรียนไปทำหอกไปตลอดโครงการ มีการปรับทัศนคติเยาวชนและฝึกฝนเกี่ยวกับการเรียนรู้หลายเรื่อง เช่น ถอดแว่น (เปิดตา เปิดใจ) วิ่งเข้าหาความรู้ ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ เป็นต้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะปรารถนาให้สิ่งแวดล้อมดี
โดยที่ไม่พัฒนาคนไปด้วย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในสังคมและระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหากับเรื่อง “กระบวนการเรียนรู้” อยู่่ไม่น้อย (ไม่ใช่ความรู้ --สังคมไทยไม่เคยขาดแคลนความรู้) เรียกได้ว่า สิ่งแวดล้อมไม่มีทางดีได้ถ้าคนยังโง่อยู่ หรือสิ่งแวดล้อมดีแต่คนโง่ก็ไม่เป็นที่น่าปรารถนาเหมือนกัน
มีหลายเรื่องที่เด็กและเยาวชนต้องเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น เรียนรู้ว่าตัวเองไม่โง่ ไม่ฉลาด เรียนรู้ว่าตัวเองเรียนรู้ได้ เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหรือน่าเบื่อ เรียนรู้ว่าตัวเองทำประโยชน์ได้ มีค่า เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่อง “ตัวเอง” ล้วนๆ แต่จะสัมพันธ์ส่งผลกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับคีแคมปรุ่นที่ 4 ได้มีการทบทวนและนิยามกันว่า คีแคมป์คือ กระบวนการพัฒนาเยาวชนเพื่อการอยู่ร่วม
กับสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ และยอมรับ “การเรียนรู้” ไว้วางควบคู่กับ “สิ่งแวดล้อม” อย่างชัดเจน (เป็นเป้าหมายควบคู่กัน) โดยตลอดกระบวนการ

                เป้าที่ “คน” ไม่ใช่ที่สิ่งแวดล้อม
เห็นชัดแล้วว่าคนเป็นปัญหา คือตัวการ รวมถึงเป็นปัจจัยปลดล็อกสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้แต่เด็กประถม ก็ยังเชื่อมโยงคนกับสิ่งแวดล้อมได้ --“อย่าลืมช่วยกันลดภาวะโลกร้อนน้า-ค้า” ฉะนั้น หากต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม หรือไม่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ก็ต้องจัดการกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า คน ไม่เป็นเรื่องต้องสงสัยอีกต่อไป
ครั้นคนเราพอตั้งเป้าอยากดูแลสิ่งแวดล้อมขึ้นมา  เราก็ลืมไปว่าการรักษาหรือการทำให้เกิดดีขึ้นมาใหม่นั้นยาก และใช้เวลากว่าการทำลายหลายเท่า โดยเฉพาะการยุ่งเกี่ยวกับ “คน” สิ่งมีชีวิตซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่ก็มีพลังยั่งยืน
แม้ว่าคนจะเป็นปัจจัยปลดล็อกสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คนก็ไม่ใช่ “เครื่องมือ” ดูแลสิ่งแวดล้อม เรามองว่าคน สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมดีได้ในลักษณะความสัมพันธ์ซึ่งส่งผลกระทบ เกื้อกูลกัน เด็กและเยาวชนยังอยู่ในวัยเรียนรู้ แม้กระทั่งคนที่โตแล้วก็ยังเติบโตแสวงหา พวกเขาต้องได้รับการพัฒนาก่อนจึงจะสามารถไปดูแลสิ่งแวดล้อม
เด็กไม่ใช่เครื่องมือของโครงการหรือของใคร เขาเป็นเครื่องมือของตัวเอง
เด็กและเยาวชนยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่มิใช่คีแคมป์ สังคม ทีวี การเมือง เพื่อนบ้าน ร้านเนท ก็กำลังช่วยกันเลี้ยงดูเขา การเรียนยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในวิถีชีวิต และเด็กก็ยังคงเป็นเด็กที่เจ้าของชีวิตส่วนหนึ่งคือพ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียน
เราอยากเห็นเขา “มีคำตอบ” และกลายเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือ? จะได้ดูแลสิ่งแวดล้อม? พร้อมๆกับเป็นนักเรียนที่ดี (=เรียนหนัก) ด้วย?
สำหรับคีแคมป์ เด็กเป็น “คน” ที่กำลังเติบโต เพื่องอกงาม 
การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างแต่ล้วน “ค่อยๆ ปรับ” จากต้นทุนเดิม  ไม่ใช่แต่เด็กและเยาวชนเท่านั้น
โครงการคีแคมป์ เอง ก็ยังต้องเรียนรู้ ประสบการณ์เก่ากำลังสร้างประสบการณ์ใหม่ อะไรที่ยังมีชีวิตสิ่งนั้นย่อมต้องเรียนรู้ มิใช่หยุดนิ่งอย่างตายไปแล้ว คีแคมป์มีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสธารแห่งชีวิต ภายใต้ความมุ่งหมายอันเดิม คือ ปรารถนาให้มนุษย์สามารถรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เริ่มต้นที่เรา และเยาวชนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งในโลกใบนี้

พื้นที่การดำเนินงาน
มาปีนี้ คีย์แคมป์ 4 มีพื้นที่เป้าหมาย ดังนี้
ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร / ชัยนาท
ภาคเหนือ : น่าน/ พะเยา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : สกลนคร/ นครพนม
ภาคตะวันออก : ระยอง
ภาคตะวันตก : สุพรรณบุรี
ภาคใต้ : สงขลา/ สตูล

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 (อายุประมาณ 12 – 16 ปี) จำนวน 80 คน

ระยะเวลาโครงการ
ระยะเวลา 22 เดือน ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 – เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ด้วยกระบวนการค่ายเรียนรู้ต่อเนื่อง 5 ค่าย ใน 1 ปี ที่เริ่มตั้งแต่การเปิดมุมมองสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้เห็น สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและสิ่งแวดล้อมได้ พาไปสู่การสร้างบทบาทในการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาด้วยตัวพวกเขาเอง

จากกระบวนการคัดเลือกเด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษา รวมทั้งสิ้น 30 คน จาก 6 ภาคทั่วประเทศไทย นับ 10 จังหวัด ๆ ละ 3 คน ในแต่ละรุ่น (และแต่ละรุ่น จะไม่ซ้ำจังหวัดเดิม) ในท้ายที่สุด เราจะมีตัวแทนเยาวชน จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่จะเป็นเครือข่ายเยาวชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเหนียวแน่นต่อไป

...ที่มาที่ไปของ Key Camp เล็กๆ น้อยๆ…
นับจาก พ.ศ.2546 ที่มูลนิธิฯ ได้เริ่มชวนเด็กทั่วประเทศปิดไฟพร้อมกันเวลา 2 ทุ่มเป็นเวลา 5 นาที ในโครงการ Kids เอง

เป็น “เวที” แรก ที่มูลนิธิฯ ชักชวนเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศ ให้ได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีง่ายๆ คือ ปิดไฟที่บ้านของตน คนละ 1 ดวง เป็นเวลา 5 นาที ทุกวัน เวลานัดหมายคือ 20.00-20.05 ด้วยหวังให้เป็นกิจกรรมซึ่งแสดงถึงความร่วมมือของเด็ก และการได้ลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่สำคัญว่ามากหรือน้อยย่อมทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ที่สำคัญยังเป็นการจุดศักยภาพในตัวเด็กหลายๆ คน ให้สามารถคิดทำประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

และเพื่อให้เด็กเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ศักยภาพซึ่งรอท่าอยู่ในตัวจึงจำเป็นต้องถูกพัฒนา ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยผลักดันให้เกิดประสบการณ์ตรงในการลงมือทำงานจริง ที่ขาดไม่ได้ด้วยก็คือ การปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในชื่อว่า “Key Camp” ภายใต้โครงการ Kids เอง จึงเกิดขึ้น

ความสำคัญของการให้เด็กเกิดประสบการณ์ตรงใน Key Camp หรืออีกนัยคือ การที่เด็กได้พบกับสภาพและเงื่อนไขทั้งหมดที่เป็นธรรมชาติและความจริง จะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้และประจักษ์ในมิติต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในการทำงานแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นวิธีที่สำคัญในการพัฒนาความคิด ความศรัทธาต่อตัวเองว่าสามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมได้

ขณะนี้มีเด็กและเยาวชนผู้เป็นเมล็ดพันธุ์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก Keeee Camp รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 หว่านกระจายอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทยแล้วจำนวนหนึ่ง สำหรับการเติบโตเป็นเครือข่ายความร่วมมือของเด็กและเยาวชนต่อไป

พ.ศ.2547 Keeee Camp รุ่นที่ 1 จำนวน 16 คน จาก 7 จังหวัด ทั้ง 6 ภาค
พ.ศ.2548-2549 Keeee Camp รุ่นที่ 2 จำนวน 23 คน จาก 8 จังหวัด ทั้ง 6 ภาค
พ.ศ.2550-2551 Keeee Camp รุ่นที่ 3 จำนวน 28 คน จาก 8 จังหวัด ทั้ง 6 ภาค
มีผู้ร่วมสนับสนุนถือหุ้นสำหรับให้เยาวชนได้ไปเรียนรู้ทั้งหมด 1,037 หุ้น
พ.ศ.2552-2554 Key Camp รุ่นที่ 4 จำนวน 18 คน จาก 10 จังหวัด ทั้ง 6 ภาค

Key Camp 4
 
รายละเอียดกิจกรรมของ คีแคมป์ รุ่นที่ 4 คลิกที่นี่ค่ะ (http://keyinthemoon.exteen.com/)
 
สนใจร่วมสนับสนุนโครงการ คลิกที่นี่ค่ะ
 
โครงการ Keep

Keeeep

Kids - Environment - Efficiency - Effectiveness – Enjoy – PRACTICE Camp = Keeeep (คีป)

โครงการ Keeeep เป็นโครงการต่อเนื่องในปีที่สองของเด็กๆ ที่ผ่านกระบวนการ Keeee Camp มาแล้ว

Keeeep เป็นเวทีที่พวกเขาจะต้องร่วมกันคิดและวางแผนกันเองอย่างจริงจัง รวมถึงการดึงเอาทักษะความถนัดของตนเองออกมาใช้อย่างเต็มความสามารถ เมื่อคราว Keeee Camp เป็นเหมือนกิจกรรมเรียนรู้และการปฏิบัติภาคทดสอบ มาคราวนี้จะเป็นการลงมือทำโครงการกันอย่างจริงจัง โดยความสมัครใจของสมาชิกเอง

Keeeep เป็นโครงการสิ่งแวดล้อมของกลุ่มเด็ก ที่เกิดจากการคิด วางแผนการทำงาน การระดมทุน และการดำเนินงานเองทั้งหมด โดยมูลนิธิฯ จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา สนับสนุนช่องทางการประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญคือการให้กำลังใจที่ไม่รู้จบ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินโครงการ

Keeeep 1 มีโครงการชื่อว่า Seeds “เมื่อเราได้เพื่อน ต้นไม้ก็ได้เพื่อน และเราจะเป็นเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก”
Keeeep 2 มีโครงการชื่อว่า Child “ศูนย์กลางความสุขไม่มีขีดจำกัด”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยเหตุปัจจัยพื้นฐานของแต่ละคนในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป ทำให้การดำเนินโครงการของทั้ง 2 Keeeep เป็นไปได้อย่างช้าๆ และหยุดชะงักบ้างในบางขณะ แต่จากที่พี่ๆ ทีมงานสอบถามไปยังทั้ง 2 กลุ่มเบื้องต้น ทั้ง Seeds และ Child ยังคงมีใจมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม แต่... หลายอย่าง เลยยังทำให้ไม่สามารถลงมือทำได้ ...อันนี้ผู้ใหญ่คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไปอย่างใกล้ชิด และคอยส่งกำลังใจกันต่อไป
...เมล็ดพันธุ์ยังคงอยู่ รอวันเบิกบาน... ผู้ใหญ่บางท่านผ่านทางมาบอก

 
 
โครงการ Key Camp และ Keeeep




Rabbitinthemoon.org | มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์